ศูนย์ Sleep Lab

ศูนย์ Sleep Lab

นอนกรน มหันตภัย ที่มากกว่าเสียงรำคาญ

โรงพยาบาลธนบุรีเปิดให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอนกรน (Sleep Lab) เพื่อเป็นการตรวจวินิจฉัยปัญหาของอาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ โดยจะจัดให้มีการตรวจวิฉัยการนอนหลับในห้องนอนที่เป็นส่วนตัว ในขณะตรวจวินิจฉัยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคลื่นสมองเพื่อบ่งบอกคุณภาพของการนอนหลับรวมถึงระยะเวลาที่นอนหลับอย่างแท้จริง นอกจากนี้การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ ปอด การไหลเวียนของอากาศในโพรงจมูก ปาก และระดับออกซิเจนในเลือด ทำให้เราสามารถประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจเป็นพักๆ จากจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยหยุดหายใจต่อชั่วโมง ระดับออกซิเจนในขณะหลับและหยุดหายใจ โดยแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เฉพาะสาขา

อาการนอนกรนเป็นโรคของการนอนหลับที่พบบ่อยในประชากรทั่วไป โดยเฉพาะในเพศชายและผู้มีภาวะอ้วน พบว่ามากกว่าร้อยละ 20 ของผู้ชาย และร้อยละ 5 ของผู้หญิงในวัยทำงานมีอาการนอนกรน และอุบัติการณ์ จะเพิ่มขึ้นตามอายุและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

 

สาเหตุของเสียงกรน

เสียงกรนเกิดจากลมหายใจที่ผ่านช่องทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลง ซึ่งมักเกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่ พนังคอหอยหรือคอหอยในขณะนอนหลับ เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนของช่องทางเดินหายใจส่วนบนดังกล่าว เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น ในบางครั้งถ้าการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเป็นมากจนปิดช่องทางเดินหายใจส่วนบนจะทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ ขณะนอนหลับได้ที่เรียกว่า Sleep apnea (การหยุดหายใจเป็นพักๆขณะหลับ) ภาวะแทรกซ้อนของอาการนอนกรนและการหยุดหายใจเป็นพักๆขณะหลับ (Sleep apnea) ลำพังการนอนกรนเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้นอนกรนไม่มากนัก นอกจากจะรบกวนการพักผ่อนนอนหลับของผู้อื่น โดยเฉพาะคู่นอนหรือเพื่อนร่วมห้อง ซึ่งการรบกวนนี้ อาจเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอาการนอนกรนกับคู่สมรสตึงเครียดได้แต่ถ้าอาการนอนกรนนั้นมีการหยุดหายใจเป็นพักๆร่วมด้วย ผลกระทบต่อสุขภาพจะมีมาก เนื่องจากขณะหยุดหายใจระดับ ออกซิเจนในเลือดจะต่ำลง ระดับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์จะสูงขึ้น ความดันของหลอดเลือดแดงในปอดและร่างกายจะสูงขึ้น การนอนจะถูกรบกวนจากภาวะดังกล่าวจนทำให้นอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน ทำให้มีความง่วงมากผิดปรกติในเวลากลางวันและมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อเทียบกับคนปรกติ นอกจากนี้ภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆขณะนอนหลับ (Sleep apnea) ยังเพิ่มอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะเสื่อมสมรรถนะทางเพศอีกด้วย ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ จะมีอาการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่กล่าวคือในเด็กจะมีอาการ active มากผิดปรกติ สมาธิสั้น พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง และผลการเรียนย่ำแย่ การสังเกตอาการและการวินิจฉัยโรคโดยเร็วจึงมีความสำคัญมากในผู้ป่วยเด็ก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อ หัวใจขาดเลือด และความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว การมีภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ ขณะนอนหลับ จะทำให้โรคดังกล่าวมีอาการแย่ลงและยากแก่การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รักษาภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยการวินิจฉัย

อาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจเป็นพักๆ นั้นต้องอาศัยการตรวจวิฉัยการนอนหลับ (Polysomnography) ในห้องนอนที่เป็นส่วนตัว หนึ่งคืน ในขณะตรวจวินิจฉัยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นสมองเพื่อบ่งบอกคุณภาพของการนอนหลับรวมถึงระยะเวลาที่คุณนอนหลับอย่างแท้จริง นอกจากนี้การบันทึกข้อมูล เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ ปอด การไหลเวียนของอากาศในโพรงจมูก ปาก และระดับออกซิเจนในเลือด ทำให้เราสามารถประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจเป็นพักๆ จากจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยหยุดหายใจต่อชั่วโมง ระดับออกซิเจน ในขณะหลับและหยุดหายใจ

 

การรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีหลายวิธี

  1. วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด
    การลดน้ำหนัก ด้วยการออกกำลังกาย , ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงยา หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ, สุรา การพยายามนอนในท่าตะแคง และหลีกเลี่ยงการนอนหงาย อาจทำให้อาการและความรุนแรงของโรคลดลงหรือหายได้ในรายที่มีการหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง ในรายที่มีอาการรุนแรงการใช้เครื่องมือช่วยทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนเปิดกว้างขณะนอนหลับที่เรียกว่า CPAP (Continuous positive airway pressure) นั้น เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีมากที่สุดวิธีหนึ่ง
  2. โดยวิธีการผ่าตัด
    ซึ่งมีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัดโดยใช้ใบมีด หรือเลเซอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขนาดของช่องทางเดินหายใจ ส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ ที่นำไปสู่การอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน

 


แนะนำโปรแกรมตรวจ


บทความที่เกี่ยวข้อง